ลุยน้ำแล้วเครื่องยนต์ดับ ห้ามสตาร์ทเครื่องซ้ำจริงหรือ?
ในช่วงที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจนทำให้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เช่นนี้ การขับรถลุยน้ำจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงตามมาได้ แล้วถ้าเกิดขับรถลุยน้ำลึกจนกระทั่ง “รถดับ” ขึ้นมาจริงๆ จะต้องทำอย่างไร? Sanook Auto จะพาไปแนะนำวิธีแก้ไขกัน
ทำไมขับรถลุยน้ำท่วมแล้วรถดับ?
สาเหตุที่ขับรถลุยน้ำแล้วเครื่องยนต์ดับ เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่
1. มีน้ำเล็ดลอดเข้าไปยังห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ - ส่งผลให้ระบบจุดระเบิดได้รับความเสียหาย เนื่องจากห้องเผาไหม้ (ลูกสูบ) ของเครื่องยนต์ทั้งเบนซินและดีเซลล้วนแต่มีกำลังอัดอากาศสูงมาก เมื่อเจอกับน้ำที่เล็ดลอดเข้าไปทางท่อไอดี จึงส่งผลทำให้เครื่องยนต์เกิดอาการน็อกในทันที ยิ่งถ้าหากมีการเร่งเครื่องยนต์ให้มีรอบสูงด้วยแล้วล่ะก็ อาจถึงขั้นทำให้ก้านสูบคดเลยทีเดียว พูดง่ายๆ ก็คือเครื่องยนต์พังไปเลย จำเป็นต้องยกรถเข้าอู่หรือศูนย์บริการเผื่อแก้ไขด้วยการผ่าเครื่องยนต์เท่านั้น
2. กล่องควบคุมเครื่องยนต์ (ECU) ได้รับความเสียหาย - กล่องอีซียูมีหน้าที่ในการควบคุมสั่งการทำงานของเครื่องยนต์ ทั้งการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง, การจุดระเบิด และอีกมากมาย หากว่ากล่องอีซียูจมน้ำ ก็จะได้รับความเสียหายจากการลัดวงจร ทำให้เครื่องยนต์ดับได้เช่นกัน และอาจยังส่งผลให้ระบบไฟฟ้าภายในรถได้รับความเสียหายอีกด้วย
หากว่าเครื่องยนต์ดับขณะลุยน้ำ ต้องทำอย่างไร?
หากว่าโชคร้ายขับรถลุยน้ำแล้วเครื่องยนต์ดับขึ้นมาจริงๆ การพยายามสตาร์ทเครื่องยนต์มักไม่ได้ผล และอาจก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมได้ ทางที่ดีควรเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อเตือนให้รถคันอื่นทราบถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น จากนั้นออกจากรถเพื่อขอความช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น การเข็นรถไปยังพื้นที่สูง จากนั้นจึงโทรเรียกรถสไลด์หรือรถลากเพื่อนำรถเข้าอู่ต่อไป
น้ำท่วมเครื่องยนต์ดับ เคลมประกันชั้น 1 ได้หรือไม่?
การเคลมค่าสินไหมทดแทนกรณีรถน้ำท่วมจนได้รับความเสียหาย สามารถแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
1. น้ำท่วมจากภัยพิบัติธรรมชาติ - กรณีจอดรถไว้ตามปกติ แต่แล้วจู่ๆ เกิดน้ำหลากไม่สามารถย้ายรถหนีได้ทัน กรณีสามารถเคลมประกันภัยชั้น 1 ได้ตามปกติ แต่หากรถเกิดความเสียหายสิ้นเชิงไม่คุ้มที่จะซ่อม ก็จะถูกตีเป็น Total Loss และจ่ายเป็นเงินชดเชย 70-80% ตามเงื่อนไขของบริษัทประกันแต่ละแห่ง
2. ขับรถลุยน้ำท่วม - หากขับรถลุยน้ำท่วมบนเส้นทางที่ภาครัฐมีการประกาศแจ้งเตือนว่ามีความเสี่ยงภัยน้ำท่วม แต่ยังคงขับผ่านเส้นทางนั้นจนทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวรถ กรณีนี้บริษัทประกันอาจปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้
3. รถติดขัดขณะฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขังโดยไม่ทราบล่วงหน้า - หากเป็นการขับรถใช้งานตามปกติแล้วเกิดรถติดพร้อมกับมีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วม ส่งผลทำให้ตัวรถได้รับความเสียหาย กรณีเช่นนี้สามารถเคลมกับบริษัทประกันได้ตามปกติ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีน้ำท่วมจนทำให้เครื่องยนต์ดับ มักเป็นความเสียหายที่รุนแรง มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท ทางที่ดีควรประเมินความสูงของระดับน้ำก่อนลุยน้ำทุกครั้ง หากพบว่าระดับน้ำสูงเกินครึ่งล้อขึ้นไป ก็ควรหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้นเสีย หรือยอมเสียเวลาจอดรถเพื่อรอระดับน้ำลดลง ดีกว่าต้องมาปวดหัวกับค่าซ่อมราคาแพงระยับ แถมอาจไม่กลับมาดีเหมือนเดิม 100% อีกด้วย
Cr.Sanookauto