รถกระบะบรรทุกได้กี่ตัน ถึงจะไม่ผิดกฎหมาย ?
รถกระบะบรรทุกของได้กี่ตัน ถึงจะไม่ผิดกฎหมายและโดนปรับ เปิดข้อมูลรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเมืองไทยสามารถบรรทุกของได้กี่ตันกันแน่ ?
สำหรับผู้ที่ขับรถกระบะส่งของ รถตู้ทึบ รถคอก คงเคยได้ยินเรื่องราวหรือเห็นอยู่บ่อยครั้งว่ารถกระบะบรรทุกของเกินกฎหมายกำหนด มักโดนจับปรับเสมอ หรือแม้แต่ข่าวรถกระบะแชสซีหักกลางถนน อันเนื่องมาจากบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าขีดความสามารถของตัวรถ หลาย ๆ คนจึงอาจสงสัยว่า รถกระบะ ที่ใช้งานอยู่นั้นสามารถรับน้ำหนักได้สูงสุดตามกฎหมายกำหนด หรือตามสเปกรถได้สูงสุดเท่าไรกันแน่ วันนี้เราจะพาไปไขข้อสงสัยกัน
รถกระบะในที่นี้ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงรถกระบะขนาด 1 ตัน เป็นอันดับแรก ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ในบ้านเรา เพราะสามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ขนส่งสินค้า ไปจนถึงเพื่อการโดยสาร และคล่องตัวมากกว่ารถบรรทุกขนาดใหญ่
โดยรถกระบะขนาด 1 ตัน มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ตอนเดียว ตอนครึ่ง และสองตอน จึงสามารถจดทะเบียนได้ทั้งรถเพื่อการพาณิชย์หรือรถยนต์นั่งทั่วไปแล้วแต่รูปแบบของรถ หากจดทะเบียนเป็นรถกระบะบรรทุกเพื่อการขนส่งจะเป็นป้ายสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีเขียว ส่วนถ้าจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งทั่วไปจะเป็นป้ายสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ ซึ่งในทางกฎหมายแล้วหากใช้บรรทุกเมื่อไรถือว่าผิดกฎหมายทันที
รถกระบะบรรทุกได้กี่ตัน
ทั้งนี้ ตามกฎหมายรถกระบะขนาด 1 ตัน สามารถบรรทุกของได้ไม่เกิน 1,000 กก. หรือ 1 ตัน ตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 หากต้องการบรรทุกหนักเกินกว่านั้น เจ้าของรถต้องติดต่อสำนักงานขนส่ง เพื่อยื่นเรื่องขออนุญาตดัดแปลง อาทิ เปลี่ยนเพลา เสริมแหนบ เปลี่ยนกระทะล้อ เพื่อให้บรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้นอย่างปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมาย
หากมีการดัดแปลงโดยไม่แจ้งต่อสำนักงานขนส่ง เจ้าของรถจะมีความผิดตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 14 ฐานแก้ไขดัดแปลงสภาพรถ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
นอกจากนั้นยังผิดตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 ฐานแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องยนต์ อุปกรณ์ หรือส่วนควบของรถให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ด้วย
รถกระบะบรรทุกอย่างไรไม่ให้โดนปรับ
รถกระบะบรรทุกของนั้น นอกจากห้ามบรรทุกของไม่เกิน 1,000 กก. หรือ 1 ตันแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงความกว้าง ความยาว และความสูง ของสิ่งที่บรรทุกด้วย โดยจะมีกฎข้อห้ามการบรรทุกตาม พ.ร.บ. รถยนต์ ปี 2522 มาตรา 5 และมาตรา 15 ระบุไว้ว่า ต้องบรรทุกของไม่เกินความกว้างขอตัวรถ ส่วนความยาวด้านหน้ายื่นได้ไม่เกินฝากระโปรงหน้ารถ และด้านหลังเลยตัวรถได้ไม่เกิน 2.5 เมตร ขณะที่ความสูงวัดจากพื้นถนนแล้วต้องไม่เกิน 3.8 เมตร
แต่ถ้าจำเป็นต้องบรรทุกเกินความยาวของตัวรถ ต้องติดธงสีแดงเรืองแสงทรงสีเหลี่ยมผืนผ้าขนาด 30x45 ซม. ไว้ปลายสิ่งของที่บรรทุกมา เช่นเดียวกันในตอนกลางคืนต้องมีการติดสัญญาณไฟสีแดงที่สามารถมองเห็นได้ชัดในระยะ 150 เมตร รวมถึงต้องมีการป้องกันไม่ให้สิ่งของตกหล่น เพราะอาจสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นได้ หากผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติอาจโดนโทษปรับ 1,000 บาท
รถกระบะบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด ส่งผลเสียอย่างไร
ถ้าหากรถกระบะบรรทุกของด้วยน้ำหนักเกินกว่ากำหนด นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังส่งผลเสียอื่น ๆ ตามมา ดังนี้
ระบบช่วงล่างของรถเสียหาย หมายถึงทุกส่วนที่ต้องแบกรับน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นแชสซีส์ สปริง โช้คอัพ ลูกหมาก ยางรถยนต์ ระบบขับเคลื่อน ระบบส่งกำลัง รวมถึงเครื่องยนต์ที่ต้องรับภาระเกินกว่าที่ออกแบบไว้อาจเสื่อมสภาพเร็วกว่าเดิม
ควบคุมรถลำบาก การบรรทุกของที่มีน้ำหนักการเกินไปจะทำให้ท้ายรถห้อย หน้ารถเชิดขึ้น ทำให้การบังคับควบคุมทิศทางลำบากกว่าเดิม เพราะน้ำหนักกดหน้ายางล้อคู่หน้าน้อย อีกทั้งน้ำหนักที่มากทำให้การเบรกแย่ลง เสี่ยงอันตรายหากขับขี่ด้วยความเร็ว หรือบนถนนที่เปียกลื่น
ทำให้พื้นถนนเสียหาย เนื่องจากถนนบางแห่งจะมีการจำกัดน้ำหนักสูงสุดไม่เกินกี่ตัน/คัน ถ้าหากใช้รถที่มีน้ำหนักเกินจะทำให้พื้นผิวถนนเกิดความเสียหายได้ รวมถึงยังถูกห้ามขึ้นบนทางด่วนอีกด้วย
อุบัติเหตุ ผลเสียที่ร้ายแรงที่สุดของการบรรทุกหนักก็คืออุบัติเหตุ ทั้งการขับขี่ ความสามารถในการทรงตัวจะน้อยลง เมื่อรถต้องรับน้ำหนักมากเกินขอบเขต จึงทำให้มีโอกาสที่รถจะเกิดอุบัติเหตุได้
รถกระบะ นั่งกระบะท้ายผิดกฎหมายหรือไม่ ?
รถกระบะ เป็นรถประเภทที่ใช้เพื่อบรรทุกสิ่งของ หากให้มีการโดยสารบนกระบะท้าย การกระทำเช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ระบุว่า ห้ามใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กก. เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หรือใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล
ซึ่งหมายถึงต้องใช้รถยนต์ให้ตรงตามที่ได้จดทะเบียน เช่น ถ้าจดทะเบียนรถกระบะเป็นรถบรรทุก (ป้ายสีเขียว) จะเอามาบรรทุกคนไม่ได้ และถ้าจดทะเบียนรถกระบะเป็นรถยนต์นั่งเกิน 7 คน (ป้ายสีน้ำเงิน) โดยที่ทำการต่อเติมหลังคาและมีที่นั่งชัดเจน จะนำมาใช้บรรทุกสิ่งของไม่ได้
ดังนั้น การนั่งโดยสารในส่วนของกระบะท้ายจึงถือเป็นความผิดตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
สำหรับประชาชนที่มีรถกระบะและต้องการบรรทุกคนโดยสาร จะต้องนำรถไปต่อเติมหลังคาและติดตั้งที่นั่ง 2 แถว และนำรถยนต์ไปจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกเป็นรถโดยสารสาธารณะ 7 ที่นั่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่ง ถึงจะถือว่าไม่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจขนส่งจะต้องแข่งกับเวลา และต้องการปริมาณการบรรทุกได้ครั้งละมาก ๆ แต่ควรต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและกฎหมาย ไม่ใช่อาศัยแค่ประสบการณ์ของผู้ขับขี่อย่างเดียว เพราะการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากำหนด จะทำให้รถเสื่อมสภาพหรือเสียหายง่ายขึ้น วันดีคืนดีรถพังกลางทาง หรือเกิดอุบัติเหตุ เมื่อนั้นอาจตระหนักได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าสินค้าที่บรรทุกไว้เสียอีก
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมขนส่งทางบก